เมื่อสินค้าตนถูกฟ้องว่าไปทำปลอม และสินค้าปลอมถูกอ้างว่าเป็นของจริง

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการและธุรกิจไทยหลายราย ทั้งผู้ที่มาลงทุนทำธุรกิจในจีนและผู้ที่นำสินค้ามาขายในจีน บางรายก็เล่าถึงปัญหา บางรายก็อยากทราบแนวทางป้องกันปัญหา ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนเห็นว่า เว็บไซต์ศูนย์ฯ จะมีส่วนได้ช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ของไทยที่จะเข้ามาในจีนได้ไม่น้อยในการเป็นเวทีข่าวสารเพื่อนำประสบการณ์ของผู้ที่พบเจอปัญหามาก่อนมาถ่ายทอดให้ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ ทั้งจากบทสัมภาษณ์ที่มีอยู่บนเว็บไซต์อยู่แล้ว และจากบทความที่เป็นกรณีตัวอย่างที่จะไม่ขอเปิดเผยชื่อธุรกิจหรือชื่อบุคคล ภายใต้ชื่อคอลัมน์เตือนภัยธุรกิจในจีนที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ อย่างไรก็ดี ขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า บทความภายใต้คอลัมน์นี้ ไม่มีเจตนาในการกล่าวโทษหรือเปิดโปงความไม่ดีของผู้ใด เพราะบนถนนสายธุรกิจย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น แต่เนื้อหาในคอลัมน์นี้จะขอทำหน้าที่เป็นเหมือนกรณีศึกษาจากเรื่องราวที่ศูนย์ฯ ได้รับทราบมา ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจบ้าง หากมีโอกาสต้องพบเจอปัญหาที่ใกล้เคียงกัน

กรณีที่จะกล่าวถึงนี้เป็นปัญหาการถูกปลอมแปลงแบรนด์สินค้าซึ่งมีต้นสายมาจากความไว้วางใจคู่ค้า หรือ พาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือทำธุรกิจด้วยกันมาในจีนชนิดที่ไม่มีมาตรการตรวจสอบป้องกันใดๆ ตั้งแต่ต้น รวมถึงข้อพึงระวังในเรื่องของการจดทะเบียนตราสินค้า

กรณีศึกษา – เจ้าของสินค้ารายหนึ่งได้นำสินค้าไทยชนิดหนึ่งเข้ามาขายในจีนเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยได้ร่วมมือกับคู่ค้าที่อยู่ในประเทศจีนรายหนึ่งในลักษณะที่เจ้าของสินค้าเป็นผู้จัดหาและจัดส่งสินค้าให้จากไทยมาจีน และคู่ค้าในจีนเป็นผู้จัดหาตลาด / ทำการตลาด/ และจัดการขายให้ เวลาล่วงเลยมา 8 ปี สินค้าไทยชนิดนี้ติดตลาดเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค และมียอดขายเป็นที่น่าพอใจ แต่วันหนึ่งเจ้าของสินค้าก็ได้พบว่า สินค้าที่วางขายในตลาดจีนจำนวนหนึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาจากตน โดยหน้าตาของบรรจุภัณฑ์ได้ถูกลอกเลียนแบบจนแทบจะเหมือนกันในทุกรายละเอียด มีการเปลี่ยนตัวสะกดของตราสินค้าบนตัวบรรจุภัณฑ์ให้แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสำหรับผู้บริโภคแล้ว คงแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นคนละตัวกัน เจ้าของสินค้าจึงได้สืบสาวราวเรื่องจนทำให้ทราบว่า คู่ค้าเพื่อนรักของตนที่ร่วมธุรกิจกันมาหลายปีเห็นสินค้าดังติดตลาด ก็อยากจะแยกวง เลยเข้า “เทคโอเวอร์” แบรนด์สินค้าชนิดนี้อย่างเงียบๆ (โดยที่เจ้าสินค้ายังไม่ทันได้รู้ตัว) โดยการไปว่าจ้างโรงงานอื่นผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ตนทำขึ้นให้มีหน้าตาคล้ายกับบรรจุภัณฑ์เดิม จากนั้นก็ส่งจากไทยเข้ามาในจีนเอง และจำหน่ายในจีนตามช่องทางที่ตนเคยใช้จำหน่ายสินค้าจากเจ้าของเดิม

เมื่อคู่ค้าไหวตัวทันว่าความลับได้ถูกเปิดเผย ก็ได้เล่นแผนซ้อนแผนในการชิงยื่นฟ้องเจ้าของสินค้าตัวจริงก่อนว่ามาปลอมแปลงสินค้าตน ทำเอาเจ้าของตัวจริงต้องหงายตึงก่อนจะตั้งสติลุกกลับขึ้นมาสู้กันใหม่ในทางกลยุทธ์การตลาดและทางกฏหมาย

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า มาสวมรอยและปลอมแปลงสินค้ากันได้ง่ายๆ อย่างนี้เชียวหรือ? ทั้งๆ ที่น่าจะมีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเกราะป้องกันอยู่ ตรงนี้คือคำถามที่น่าสนใจ เพราะบอกให้รู้ว่าเจ้าของสินค้าพลาดท่าตรงไหน ก็ตรงที่ไปให้รายละเอียดตราสินค้าต่างๆ แก่คู่ค้ารายนี้ถือไว้ในมือ และให้ใช้ร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมกันมาตั้งแต่ต้น (แม้จะคนละบริษัท) เรียกได้ว่าไว้ใจกันมาตลอดถึงขั้นให้ฝ่ายคู่ค้าดำเนินการแทนตนทุกอย่างในจีน รวมถึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทในจีนให้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้อนุญาตให้ฝ่ายคู่ค้านำตราสินค้าภาษาจีนอีกคำหนึ่งที่ไปจดทะเบียนเป็นสิทธิของคู่ค้าเองมาพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ตัวที่ขายอยู่เดิมนี้ ซึ่งเมื่อแบรนด์ติดตลาดและบรรจุภัณฑ์เป็นที่คุ้นตาของผู้บริโภคแล้ว ฝ่ายคู่ค้าจึงได้ยกจุดนี้ขึ้นชิงฟ้องฝ่ายเจ้าของสินค้าว่ามาใช้ตราสินค้าที่ตนจดทะเบียนไว้แล้วแทน

ในทางกฎหมายและเกมการตลาด เจ้าของสินค้ารายนี้ก็คงต้องพิสูจน์กับทั้งศาลและลูกค้า และต่อสู้กันต่อไป ซึ่งต้องขอเอาใจช่วยและขอขอบคุณที่ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ที่น่ารับฟังและนำมาพิจารณาแก่เจ้าของกิจการรายอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ยากแก่การแก้ไขในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนเป็นเวลานาน โดยไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบและป้องกัน

นอกจากนี้ ข้อควรตระหนักและพึงทำความเข้าใจให้ถูกต้องอีกประการหนึ่ง คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และตราสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรจะดำเนินการจดทะเบียนทุกตราสินค้าที่ใช้ ในจีน เพื่อความได้เปรียบในทางกฎหมาย หากเกิดการฟ้องร้องกันในอนาคต นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจอีกด้วยว่า การจดทะเบียนตราสินค้าในประเทศใดก็จะสามารถคุ้มครองเพียงในประเทศนั้น ดังนั้นเมื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในจีน ก็ต้องจดทะเบียนตราสินค้าในจีนด้วย ซึ่งในกรณีศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้น เจ้าของสินค้าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในไทยแล้ว เมื่อมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องสินค้าปลอมของฝ่ายคู่ค้าที่ออกจากโรงงานผลิตได้ ขณะที่ในจีนต้องต่อสู้อย่างยากลำบากในการพิสูจน์ว่าตนเป็นเจ้าของสินค้าที่แท้จริง เนื่องจากแม้เจ้าของสินค้าจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันนั้นในจีนด้วย แต่ฝ่ายคู่ค้าได้ไปทำการจดทะเบียนตราสินค้าอีกตราหนึ่งทนำมาใช้คู่กันบนบรรจุภัณฑ์สินค้าชนิดนี้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าของเจ้าของสินค้า จึงได้นำมาซึ่งผลลัพภ์ที่ “สินค้าจริงของตนถูกฟ้องว่าเป็นของปลอมแปลง และสินค้าที่มาปลอมแปลงกำลังอ้างตัวว่าเป็นของจริงอยู่นี้”

 

ปรับปรุงล่าสุด : 27 พฤษภาคม 2554
โดย : แสนดี สีสุทธิโพธิ์
แหล่งข้อมูล : ประสบการณ์เล่าจากผู้ประกอบการธุรกิจไทย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com

 

ปรับปรุงล่าสุด : 27 พฤษภาคม 2554
โดย : แสนดี สีสุทธิโพธิ์
แหล่งข้อมูล : ประสบการณ์เล่าจากผู้ประกอบการธุรกิจไทย

นครเซี่ยงไฮ้ / ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซียงไฮ้

Share now :

Facebook
Twitter
LinkedIn
บริษัท อารีน่า มีเดีย จำกัด

© สงวนลิขสิทธิ์ 2011-2024

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า